เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 3. มหาเวทัลลสูตร

คือ ราคะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องวัด โทสะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องวัด โมหะชื่อว่า
กิเลสเป็นเครื่องวัด กิเลสเหล่านั้นภิกษุผู้ขีณาสพละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไป
ไม่ได้
เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า 'เลิศกว่าอัปปมาณา-
เจโตวิมุตติที่มีอยู่' เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบนั้น ว่างจากราคะ ว่างจากโทสะ ว่าง
จากโมหะ ราคะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องกังวล โทสะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องกังวล
โมหะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องกังวล กิเลสเหล่านั้นภิกษุผู้ขีณาสพละได้เด็ดขาดแล้ว
ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า 'เลิศกว่าอากิญจัญญาเจโต-
วิมุตติที่มีอยู่' เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบนั้น ว่างจากราคะ ว่างจากโทสะ ว่างจากโมหะ
ราคะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องทำนิมิต โทสะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องทำนิมิต โมหะชื่อว่า
กิเลสเป็นเครื่องทำนิมิต กิเลสเหล่านั้นภิกษุผู้ขีณาสพละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดราก
ถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
ท่านผู้มีอายุ เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า 'เลิศกว่า
อนิมิตตาเจโตวิมุตติที่มีอยู่' เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบนั้น ว่างจากราคะ ว่างจากโทสะ
ว่างจากโมหะ
เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้จึงมีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่
พยัญชนะเท่านั้น เหตุนั้น เป็นอย่างนี้แล"
ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวภาษิตนี้แล้ว ท่านพระมหาโกฏฐิกะมีใจยินดีชื่นชม
ภาษิตของท่านพระสารีบุตร ดังนี้แล

มหาเวทัลลสูตรที่ 3 จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 4. จูฬเวทัลลสูตร

4. จูฬเวทัลลสูตร
ว่าด้วยการสนทนาธรรมที่ทำให้เกิดปัญญา สูตรเล็ก
สักกายทิฏฐิ

[460] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน1
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น อุบาสกชื่อวิสาขะเข้าไปหาภิกษุณีชื่อธัมมทินนาถึงที่อยู่
น้อมไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร แล้วได้ถามธัมมทินนาภิกษุณีว่า "แม่เจ้าขอรับ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า 'สักกายะ สักกายะ' ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า
'สักกายะ"
ธัมมทินนาภิกษุณีตอบว่า "ท่านวิสาขะ อุปาทานขันธ์2 5 ประการ คือ

1. รูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป)
2. เวทนูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือเวทนา)
3. สัญญูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสัญญา)
4. สังขารูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสังขาร)
5. วิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)

ท่านวิสาขะ อุปาทานขันธ์ 5 ประการนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า
'สักกายะ"
วิสาขอุบาสกชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของธัมมทินนาภิกษุณีว่า "ดีละ แม่เจ้า"
แล้วได้ถามปัญหาต่อไปว่า "แม่เจ้าขอรับ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า 'สักกายสมุทัย
สักกายสมุทัย' ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า 'สักกายสมุทัย"
"ท่านวิสาขะ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความ
กำหนัด มีปกติให้เพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
นี้พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า 'สักกายสมุทัย"

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 1 ข้อ 252 (รถวินีตสูตร) หน้า 273 ในเล่มนี้
2 ดูเชิงอรรถที่ 1 ข้อ 91 (สัมมาทิฏฐิสูตร) หน้า 86 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :500 }